สังคมที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตที่ทุกอย่างต้องรีบเติบโต ก้าวหน้า ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คุณอาจจะรู้สึกหนักใจ เหนื่อยล้า ไม่ว่าจะเกิดจากความกดดันในการทำงานหรือปัญหาชีวิตส่วนตัว ทุกอย่างล้วนมีผลต่อแรงจูงใจในการทำงานของเรา
บทความนี้ Futureskill ขอชวนทุกคนมาสำรวจไปด้วยกัน ว่าอาการที่คุณอยู่ในตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะใด? เพื่อที่เราจะสามารถสำรวจให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาเหล่านั้นได้และรู้เท่าทันเวลา รีบแก้ไขให้อาการหมดไฟให้ดีขึ้นครับ
1. Burnout Syndrome (ภาวะหมดไฟในการทำงาน)
สาเหตุ : ภาวะนี้ถือเป็นอาการเริ่มแรก คุณกำลังรู้สึก ขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะมีปริมาณงานที่ต้องทำมากจนเกินไป หรือแม้กระทั่งเกิดจากสภาพสังคมในที่ทำงาน
คุณมีความรู้สึกว่าไร้ตัวตน ไม่กล้าที่จะแสดงออกทางความคิดให้กับคนในทีมได้ ซึ่งภาวะนี้เกิดได้จากความเครียดสะสมจากการทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ ครับ
วิธีสังเกต : รู้สึกทำงานได้ช้า เซ็ง เมื่อเจองานเร่งก็จะรู้สึกอึดอัด กดดัน ทำให้รู้สึกปวดศีรษะ ร่างกายมีภาวะหายใจไม่ทั่วท้อง ส่งผลให้เกิดโรคเครียด หรือโรคอื่น ๆ ตามมา อย่างเช่น Office syndrome เป็นต้นครับ
วิธีการแก้ไข : พยายามแบ่งเบาภาระงานหรือพูดคุยกับหัวหน้าว่า จำนวนงานที่ทำอยู่นั้นมีมากจนเกินกว่าจะทำให้สำเร็จภายในเวลางานได้ เพื่อที่จะได้มีการแบ่ง
เบาภาระงานให้กับคนที่เกี่ยวข้องและตัวคุณเองก็จะมีเวลาที่จะโฟกัสกับงานที่ถนัดยิ่งขึ้น
2. Boreout Syndrome (ภาวะเบื่องาน)
สาเหตุ : มาจากการที่รู้สึกว่า เราไม่สามารถใช้ศักยภาพในการทำงานได้อย่างเต็มที่ งานที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์ ไม่มีความท้าทาย เช่น ภาระหน้าที่น้อยจนเกินไป เนื้องานไม่ตรงกับความคาดหมาย
วิธีสังเกต : รู้สึกไม่ภูมิใจกับงานที่ทำอยู่ ไม่อยากมาทำงาน มองหางานใหม่อยู่ตลอดเวลา
วิธีการแก้ไข : สำรวจงานที่ทำอยู่ถึงคุณค่าและสิ่งที่ตัวเองอยากจะพัฒนา
นำประเด็นเหล่านี้ ไปพูดคุยกับหัวหน้างานถึงสิ่งที่คุณอยากจะทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีแนวทางในเติบโตและก้าวหน้าไปในทิศทางเดียวกับบริษัท
3. Bownout Syndrome (ภาวะหมดใจในการทำงาน)
สาเหตุ : เป็นภาวะที่มีความรุนเเรงที่สุดจาก ทั้งหมดที่กล่าวมาครับ ซึ่งภาวะนี้คือภาวะหมดใจในการทำงาน เกิดจากการที่ หัวหน้างานมีความหวังต่อตัวเราสูง อยากได้งานต้องได้ ไม่สนว่ากี่โมงเเม้จะเป็นวันหยุด หรือการที่เรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่ตอนนี้ได้รับค่าตอบเเทนกับปริมาณเนื้องานที่ทำอยู่
อย่างไม่เป็นธรรม และชอบโดนเปรียบเทียบกับคนอื่นภายในแผนกงานอยู่บ่อยครั้ง
วิธีสังเกต : โหยหาวันหยุด พยายามหยุดงานทุกเมื่อ ลาในทุกโอกาส ปลีกตัวออกจากสังคมในที่ทำงาน ความกระตือรือร้นในงานลดลงจนเห็นได้ชัด ตั้งใจมาทำงานสาย พร้อมที่จะลาออกจากงานตลอดเวลา
วิธีการแก้ไข : พูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น หัวหน้างาน,หัวหน้าแผนก, HR ถึงวิธีจัดสรรคเวลาในการทำงานให้เป็นระบบและอยู่ภายในเวลางาน เพื่อให้มีการแบ่งภาระหน้าที่งานอย่างเหมาะสมโดยที่
สามารถติดตามงานและวัดผลได้
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 3 ภาวะที่เกิดขึ้นในการทำงาน คุณจัดอยู่ในกลุ่มใดรึเปล่าครับ
ถ้าหากคุณกำลัง “หมดใจ” จนมองไม่เห็นหนทางที่สดใสในที่ทำงาน การปรับเปลี่ยนมุมมองด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ หาสิ่งใหม่ ๆ ที่คุณชอบทำให้มีความผ่อนคลาย หรือการเข้าไปพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาให้ดียิ่งขึ้นได้ครับ และถ้าหากหากพอมีเวลาว่างอย่าลืมเข้ามาในแพลตฟอร์ม Futureskill เพื่อเพิ่มพลังงานบวกและทักษะการทำงานที่แกร่งยิ่งขึ้น ลุกขึ้นยืนอย่างเข้มแข็งไปพร้อมกันอีกครั้งนะครับ!