Highlight
- การขาด Psychological Safety คือสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การ Burnout
- การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีเริ่มจากการที่ “ผู้นำ” ต้องสวมบทบาทความเป็นโค้ช
- หลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานไม่หมดไฟคือการส่งเสริมให้เกิด “ความรู้” “ความกล้า” และ “จินตนาการ” กับพนักงาน
- ทักษะสำคัญ 4 อย่างในการนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดีคือการสื่อสาร, การให้ฟีดแบ็ก, การพัฒนาพนักงาน และการสังเกต
หากพูดปัญหาการทำงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานออฟฟิศที่ทำงานในองค์กร สิ่งที่เป็นตัวบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจของพนักงานเป็นอย่างมากคือปัญหาความรู้สึก Burnout และการขาด Psychological Safety ในที่ทำงาน
การ Burnout คือภาวะหมดไฟจากการทำงาน เกิดอาการอ่อนล้า เครียด ไม่รู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีคุณค่า ปัญหานี้อาจลามจนไปถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าเลยก็ว่าได้ ยิ่งถ้าร่วมกับการขาด Psychological Safety หรือความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยในการที่จะกล้าแสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดีย หรือลองผิดลองถูกในที่ทำงาน ก็ยิ่งซ้ำเติมให้พนักงานมีความรู้สึกแย่มากขึ้นไปอีก
ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ตัวของพนักงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและผลประกอบการของบริษัทอีกด้วย การที่พนักงานเครียด ไม่มีความสุข ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น นำไปสู่การที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
ดังนั้นผู้นำและองค์กรควรให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมที่ดีเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ และจะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานในระยะยาว และยังช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานอีกด้วย
ขาด Psychological Safety ในที่ทำงานนำไปสู่การ Burnout
การที่พนักงานขาด Psychological Safety หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในที่ทำงาน แท้จริงแล้วเป็นต้นเหตุหลักของภาวะ Burnout เนื่องจากเมื่อพนักงานรู้สึกว่าความคิดเห็นหรือการกระทำของตนเองไม่มีพลังหรือมีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับบริษัทก็จะนำไปสู่การทำงานแบบเช้าชามเย็นชามเพื่อให้งานเสร็จๆ ไป
ตัวอย่างสถานการณ์
- เมื่อพนักงานนำเสนอไอเดียหรือแสดงความคิดเห็นแล้วมักจะถูกปฏิเสธหรือโดนด่าโดนว่า
- การทำงานในโปรเจกต์ที่ตั้งใจทำแล้วถูกยกเลิกกลางคันถูกเมินเฉยทำให้รู้สึกไร้คุณค่าไม่ได้รับความสำคัญ
- การมอบหมายงานที่ยากโดยไม่มีการสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
- การไม่ได้รับคำชมหรือไม่มีใครเห็นคุณค่าในผลงาน ไม่ว่าจะทุ่มเทมากแค่ไหนก็ตาม
- การมีหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่มีลักษณะชอบจับผิด ชอบวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ ไม่เปิดใจรับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่เปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูก
หากคิดดูแล้วจะเห็นได้ว่าสาเหตุของการขาด Psychological Safety ล้วนมาจากหัวหน้าทั้งสิ้น ดังนั้นการเริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้จึงจำเป็นต้องเริ่มจากการขับเคลื่อนของทางฝั่งผู้นำ ผู้บริหาร หัวหน้างานเป็นหลัก
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีต้องเริ่มจาก “ผู้นำ”
แนวคิดของการเป็นผู้นำที่ดีได้นั้นก่อนอื่นควรถอดหมวกคำว่า “หัวหน้า” ที่มักจะคอยควบคุมสั่งการออกไปก่อน และสวมบทของการเป็น “โค้ช” เข้าไปแทน ซึ่งการเป็นโค้ชเปรียบเสมือนคนที่คอยให้คำปรึกษา ไกด์แนวทางในการทำงาน และพร้อมสนับสนุนให้ทีมได้พัฒนาศักยภาพในแบบที่เหมาะกับตัวเองอย่างเต็มที่
ในการประเมินพนักงานผู้นำต้องปรับมุมมองใหม่ โดยไม่มานั่งจับผิดความผิดพลาดของพนักงานแต่ควรมองหาจุดแข็งและโอกาสในการพัฒนาแทน ผู้นำควรโฟกัสไปที่การชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ทำได้ดีและวิธีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง
การสวมบทความเป็นโค้ชยังทำให้ผู้นำจำเป็นต้องฟังและเข้าใจพนักงานมากขึ้น ว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร มีปัญหาอะไร ต้องการอะไร ควรรับฟังพนักงานอย่างตั้งใจไม่ด่วนตัดสิน เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ พร้อมเปิดกว้างยอมรับให้พนักงานได้มีโอกาสทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานกล้าคิด กล้าเสี่ยง เปิดกว้างและร่วมผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กรได้
สิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยสร้าง Psychological Safety ในที่ทำงาน และลดความเครียดให้พนักงานได้ และนำไปสู่การมี Mental Health ที่ดีมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
หลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานไม่หมดไฟ
หลังจากที่ผู้นำปรับเปลี่ยนบทบาทและมุมมองของตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะลงมือสร้างและออกแบบวัฒนธรรมองค์กรที่จะเอื้อให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ช่วยผลักดันธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งขอแนะนำเฟรมเวิร์คการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์โดย คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO และเจ้าของบริษัท Creative Agency ในชื่อ rgb72 และงานอีเว้นท์ Creative Talk Conference
เฟรมเวิร์คนี้ทำงานด้วยการผลักดันให้เกิด 3 สิ่งคือ “ความรู้” “ความกล้า” และ “จินตนาการ” ซึ่งเป็นส่วนผสมที่จำเป็นในการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยเรามาดูกันว่าในแต่ละองค์ประกอบผู้นำต้องทำอะไรได้บ้างเพื่อให้วัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นได้จริง
- เริ่มต้นที่ “ความรู้” พนักงานควรได้รับความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันผู้นำองค์กรก็จะต้องมีความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นให้กับพนักงาน และสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานเข้าใจและเห็นภาพรวมไปในทางเดียวกันได้ เมื่อพนักงานมีข้อมูลและความรู้ที่เพียงพอก็จะสามารถคิดและตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
- อย่างที่สองคือ “ความกล้า” พนักงานจะต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะเสนอความเห็น กล้าที่จะทดลองทำอะไรใหม่ๆ และกล้าที่จะเผชิญกับความผิดพลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้มาจากการที่ผู้นำสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยด้วยการรับฟัง เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมที่จะเรียนรู้และผิดพลาดไปด้วยกัน ไม่ตำหนิติเตียนแต่จะช่วยเหลือสนับสนุน และให้ Feedback อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาของพนักงาน
- สุดท้ายคือ “จินตนาการ” พนักงานจะต้องฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ ต้องลองคิดนอกกรอบ มองในมุมใหม่ๆ เสพข้อมูลและไอเดียใหม่ๆ เข้าไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ ในขณะที่ผู้นำต้องเปิดใจและสนับสนุนการสร้างจินตนาการและการตั้งคำถามกับไอเดียแปลกใหม่ เพื่อให้เห็นแนวทางและวิธีการนำไปปฏิบัติใช้จริง
เฟรมเวิร์คนี้องค์กรต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งของผู้นำและฝั่งของพนักงาน หากขาดไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็คงจะสร้างองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์และก้าวไปข้างหน้าได้ยาก
ทักษะสำคัญในการนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดี
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สำเร็จได้นั้นสิ่งสำคัญนอกจากการวางเฟรมเวิร์คแล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือทักษะของผู้นำเอง ผู้นำที่จะขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีทักษะหลายอย่างทั้งการสื่อสาร, การให้ฟีดแบ็ก, การพัฒนาพนักงาน และการสังเกตพนักงาน
1. การสื่อสาร
การสื่อสารที่ดีต้องมีความตรงไปตรงมา โปร่งใส ไม่ปิดบังข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งมีเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการในการสื่อสารแต่ละครั้งอย่างชัดเจน ที่สำคัญสำหรับผู้นำจริงๆ คือการรู้จักหยุดพูดและฟังพนักงานอย่างตั้งใจ เข้าใจความต้องการและข้อกังวลของพนักงานอย่างแท้จริง
2. การให้ Feedback
ผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะให้ฟีดแบ็กอย่างสร้างสรรค์กับพนักงานเช่น การให้กำลังใจ, การให้คำแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง, การบอกจุดที่ตัวพนักงานทำได้ดีและสามารถพัฒนาต่อยอดได้ แน่นอนว่าผู้นำต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของพนักงานด้วยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับ Feedback ที่ได้รับไป
3. การพัฒนาพนักงาน
การพัฒนาพนักงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อพนักงานเติบโตย่อมส่งผลให้องค์กรเติบโตไปด้วยกัน ดังนั้นต้องมองหาโอกาสในการให้พนักงานได้ฝึกฝน เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ทั้งจากงานที่ท้าทาย การส่งพนักงานเข้าอบรมสัมมนา ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีความสามารถที่หลากหลายและสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย
4. การสังเกต
หมั่นสังเกตพฤติกรรมของพนักงานอยู่เสมอเพื่อค้นหาว่าพนักงานคนไหนมีศักยภาพ มีผลงานโดดเด่น มีแนวคิดที่สร้างสรรค์ มีทักษะความเป็นผู้นำ ในทางกลับกันก็ต้องคอยสังเกตด้วยว่าพนักงานคนไหนเริ่มมีสัญญาณของการ Burnout หรือกำลังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เป็นที่ยอมรับในองค์กรหรือเปล่า เพื่อที่จะรีบให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ทักษะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถสร้างและผลักดันวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการทำงาน การเรียนรู้ และความคิดริเริ่มของพนักงานที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำให้พนักงานมีความสุขมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีอีกด้วยลดความเครียดและความเบื่อหน่าย นำมาซึ่งประสิทธิภาพและความสำเร็จให้กับองค์กรในท้ายที่สุด
สำหรับใครที่อ่านบทความแล้วอยากจะก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้าหรือผู้นำองค์กรและต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://fskill.co/ROC3 กับคอร์ส “Lead with Creativity, Unlock Your Team’s Potential” บริหารทีมด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ ที่จะพาไปเข้าใจความสำคัญและหลักของความคิดสร้างสรรค์ว่าช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้องค์กรได้อย่างไร, กรณีศึกษาและตัวอย่างที่หลากหลายจากประสบการณ์การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเฟรมเวิร์คการสร้างวัฒนธรรมองค์กรพร้อมตัวอย่างการใช้งานให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์กับการวางแผนในองค์กรของตนเองได้