‘เจ้าของธุรกิจ’ คือความฝันของหลายคนที่ต้องการอิสระในการทำงาน ได้ทำในสิ่งที่ชอบไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้ ทำให้ช่วงหลายปีมานี้เราจะเห็นเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้ง SMEs และ Startup ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ธุรกิจของพวกเขาแทบจะหายไปภายในเวลา 1-2 ปี เมื่อดูจากตัวเลขของ Global Startup Ecosystem Report 2024 ที่พบว่า 9 ใน 10 ของ Startup นั้นล้มเหลว

แล้วอะไรคือเคล็ดลับในการสร้าง Startup ที่ประสบความสำเร็จ ? หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำแนะนำว่าเจ้าของธุรกิจจะต้องมี Passion ต้องรู้จักตัวเองว่าเราเก่งหรือหลงใหลในเรื่องอะไร แถมยิ่งรู้จักตัวเองเร็วก็ยิ่งดี เพราะได้ลงมือทำก่อนใคร แน่นอนว่าคำแนะนำนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสร้าง Startup ที่ประสบความสำเร็จต้องใช้มากกว่านั้น บทความนี้เราจะพาไปดูแนวคิดของ ‘วิน – โอชวิน จิรโสตติกุล’ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FutureSkill ผู้ที่เปลี่ยน Passion ในการเรียนรู้ของตัวเองให้เป็น EdTech Startup ชั้นนำของไทย

การค้นหาตัวตนของ Startup

ในช่วง ม.ต้น วินก็ไม่ได้แตกต่างเพื่อนวัยเดียวกันมากนักที่ชื่นชอบการเล่นเกมคอมพิวเตอร์และเกมคอนโซลต่าง ๆ โดยเกมที่เจ้าตัวบอกว่าชอบสุด ๆ คือเกมแนววางกลยุทธ์ แล้วถ้าถามว่าชอบมากขนาดไหน ? ก็ถึงขั้นไปเข้าร่วมคอมมูนิตี้ของเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งเพื่อเขียนรีวิวเกมและแบ่งปันประสบการณ์การเล่น ลุกลามไปถึงการฝึกเขียนโปรแกรมและ Coding ด้วยตนเองตั้งแต่ ม.2 เพื่อสร้างเว็บไซต์มารีวิวเกมอีกที

เมื่อถามว่าความชอบนี้แตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกันมากไหม วินตอบว่า ก็คงไม่ได้ต่างมาก แต่มันเป็นเรื่องความชอบมากกว่า บางคนชอบเขียนชอบสร้าง ในขณะที่บางคนชอบเล่นเกมหรือชอบอ่านเท่านั้น ซึ่งเอาจริง ๆ ในช่วงเวลานั้น ทุกคนเป็นวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวเอง ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เรียนเขียนโปรแกรมอย่างเดียว ในช่วงเวลานั้นก็มีเรียนประกอบคอมพิวเตอร์ เรียนศิลปะ เรียนดนตรี ทำให้ช่วง ม.ปลาย ก็ห่างเรื่องเขียนโปรแกรมไป แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แน่ ๆ ตอนนั้นคือชอบเรียนมาก สนุกกับการเรียน

วินเล่าว่า เมื่อถึงช่วงเตรียมเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนต่อด้านไหนดี เพราะเรียนรู้ทักษะมาในหลากหลายด้านมาก อยากทำหลายอย่าง แต่สุดท้ายก็วนกลับไปที่การเขียนโปรแกรม ซึ่งรู้สึกว่าสนุกกับสิ่งนี้ที่สุด แต่ก็แอบกังวลลึก ๆ ว่าห่างเรื่องเขียนโปรแกรมมานานแล้วจะสอบเข้าได้ไหม แต่ท้ายที่สุด วินก็สอบเข้า Computer Science หรือคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์จนได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางเจ้าของบริษัท EdTech Startup

ล้มให้ไว ลุกให้เร็ว

ในช่วงเวลาที่วินเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่  Startup เริ่มแพร่หลายในไทย หลายองค์กรจัดโครงการแข่งขันการเขียนโปรแกรม การเขียนแผนธุรกิจ Startup ซึ่งวินได้ชวนเพื่อนเข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการเพื่อหาประสบการณ์ และบางครั้งพวกเขาก็ได้ผลพลอยได้เป็นเงินรางวัลบ้าง

วินอธิบายว่าการแข่งขันเหล่านี้มันน่าจะเป็นการตกผลึกจากความชอบในการเล่นเกมแนววางกลยุทธ์ เมื่อมาประกอบกับ Computer Science ที่เรียนอยู่ ทุกอย่างมันก็เลยไปด้วยกันได้ ยิ่งมีเพื่อนมาร่วมด้วยมันก็ยิ่งสนุก พวกเขาจึงได้สร้างบริษัทเล็ก ๆ ขึ้น ตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนและกินนอนอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย โดยใช้ทุนจากเงินรางวัลที่สะสมไว้เปิดบริษัททำแอปพลิเคชัน ซึ่งแน่นอนว่ามันเจ๊งไม่เป็นท่า แต่เขาก็ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงและตกผลึกจากความล้มเหลวในครั้งนี้ได้ว่า “การล้ม ต้องล้มให้ไว และลุกให้เร็ว”

มองโอกาสให้เห็น คว้าโอกาสให้เป็น

เมื่อ Facebook เริ่มได้รับความนิยมในไทย วินและเพื่อนมองเห็นว่าสื่อดิจิทัลกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้เป็นคนตลก เขาจึงไม่สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ชวนขำเหมือนคนอื่น ๆ ได้ และเลือกไปทำสื่อให้ความรู้แทน นั่นก็คือ Future Trends เพจที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยี การตลาด และนวัตกรรม รวมถึง Infographic Thailand เพจที่นำเสนอคอนเทนต์ยาก ๆ ให้คนเข้าใจง่ายมากขึ้นด้วยรูปภาพเพียงชิ้นเดียว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 400,000 คน

ในช่วงเวลานี้ที่หลายอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง วินบอกว่าเขาและเพื่อนต้องลงมือทำเองหลายอย่าง เพราะเงินทุนที่ไม่ได้มากนัก ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อนและต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นครีเอทีฟที่คิดคอนเทนต์ ลงมือเขียนบทความเอง การพูดคุยกับลูกค้าเพื่อขายคอนเทนต์ ไปจนการทำการตลาดเพื่อทำให้เพจเป็นที่รู้จัก ซึ่งทั้งหมดนี้วินแนะนำว่า แม้จะทำได้ไม่เก่ง แต่การเรียนรู้ที่ไวพอและลงมือทำได้เอง จะช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้ในช่วงแรกที่มีทุนจำกัด

ปัจจุบัน Future Trends และ Infographic Thailand มีผู้ติดตามมากกว่า 400,000 คน โดย Future Trends ถูกต่อยอดเป็นธุรกิจสื่อที่มีการจัดงานสัมมนาเพื่ออัปเดตเทรนด์แห่งอนาคต ในขณะที่ Infographic Thailand ถูกต่อยอดเป็นธุรกิจสื่อที่มีการให้บริการผลิตสื่อ Infographic ให้กับแบรนด์และองค์กรต่าง ๆ ในไทย

เราจะเห็นว่าความสำเร็จของ Future Trends และ Infographic Thailand เกิดจากการมองเห็นโอกาสและคว้าโอกาสให้เป็น เพราะหลายคนรู้ว่าสื่อดิจิทัลกำลังมาแรง แต่การจะตักตวงโอกาสในการทำสื่อนั้น แต่ละคนทำได้ไม่เหมือนกัน เพราะวินก็ยอมรับว่าเขาไม่สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ชวนขำเหมือนคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อมองเห็นโอกาสแล้ว เขาก็เลือกที่จะคว้าโอกาสในแบบของเขาเอง ทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงคอนเทนต์ขำขันที่กำลังเป็น Red Ocean และเติมเต็ม Passion ของตัวเองในด้านการเรียนรู้ แต่นี่ยังไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้าง Startup …

การสร้าง Startup ต้องมีมากกว่า Passion

วินเล่าว่า Passion ในการทำธุรกิจนั้นจะพา Startup เดินหน้าไปได้ถึงจุดหนึ่ง แต่การพาธุรกิจให้เติบโตต่อไปคือความท้าทายที่แท้จริงของเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น Business Opportunity หรือโอกาสทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ Startup ประสบความสำเร็จได้

หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเราชอบของชิ้นหนึ่งมาก อยากขายของชิ้นนั้นให้คนอื่น ๆ แต่ของชิ้นนั้นไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้เลย ก็แปลว่าไม่มีใครอยากได้ของชิ้นนั้น ดังนั้นไม่ว่าเราจะชอบของชิ้นนั้นมากแค่ไหน ก็ไม่ควรดื้อดึงขายของชิ้นนั้นต่อไป เพราะนอกจากจะเสียเงินทุนแล้ว ยังเสียเวลา รวมถึงเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับเราและคนรอบข้างโดยไม่มีความจำเป็นอีกด้วย

แนวคิดนี้จึงกลายเป็น FutureSkill แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มทักษะแห่งอนาคต ซึ่งเกิดจาก Passion ในการเรียนรู้ของวินและเพื่อน เพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลกที่มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่การศึกษาในปัจจุบันนั้นล่าช้า ความรู้ก็เก่าเร็ว แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์จึงมีโอกาสทางธุรกิจที่มากพอจะเติบโต โดยในมุมมองของวินแล้ว แม้ในวันนี้ธุรกิจจะยังไม่ Sexy หรือดึงดูดผู้เรียนมากพอ แต่เทรนด์ของโลกที่เดินไปในทิศทางนี้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในอนาคต

 ความท้าทายที่สุดของเจ้าของธุรกิจ

เป็นเวลา 5 ปีแล้วที่ FutureSkill ถือกำเนิดขึ้น แต่การเดินทางของ EdTech Startup แห่งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2019 แต่ธุรกิจนี้คือ Passion ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัย ม.ต้น ของวิน และผ่านการตกผลึกจากธุรกิจที่ล้มเหลวในอดีต ซึ่งแน่นอนว่ามันจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะการพาธุรกิจให้เติบโตต่อไปคือ Passion ใหม่ของวิน และเขาคาดหวังว่าจะทำมันให้สำเร็จ เพราะธุรกิจของเขาในวันนี้ไม่ได้มีทีมงานแค่หลักสิบคนอีกต่อไป

วินทิ้งท้ายว่าการสร้างธุรกิจนั้นต้องมีมากกว่า Passion และมีทักษะอีกหลายอย่างที่เจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ดังนั้นการรักษา Passion และความอยากรู้อยากเห็นในการทำธุรกิจให้มีอยู่อย่างต่อเนื่อง จะเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ Startup เดินหน้าต่อไปได้ไม่ว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคอะไรก็ตาม