Highlight
- การพากย์มีสองประเภทคือ Voice Over ซึ่งเป็นการบรรยายและอธิบายเนื้อหาหรือสถานการณ์จากมุมมองของบุคคลที่สามและ Voice Acting เป็นการพากย์แบบสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ
- การเป็นนักพากย์ต้องมีคุณสมบัติ 6 อย่างทั้งในด้านวิธีคิดและสภาพจิตใจ
- ทักษะ “การพากย์” ไม่ได้ใช้เฉพาะนักพากย์อีกต่อไปแต่ยังสามารถนำไปใช้กับการทำคอนเทนต์, การนำเสนองาน และอื่นๆ อีกมากมาย
นักพากย์ กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในยุคนี้ ด้วยกระแสของคอนเทนต์รูปแบบ Short Form Video อย่าง TikTok, Instagram Reels และ Youtube Shorts ที่มีการเติบโตและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทำให้ทักษะ “การพากย์เสียง” มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ช่วยดึงดูดความน่าสนใจให้กับคอนเทนต์เป็นอย่างมาก
นอกจากการนำทักษะการพากย์เสียงมาทำคอนเทนต์ ยังมีสื่ออีกหลายรูปแบบที่ต้องใช้ทักษะการพากย์ระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น งานพากย์ภาพยนตร์, ซีรีส์, อนิเมะ, การ์ตูน, โฆษณา และรายการ Podcast ต่างๆ ทำให้ในปัจจุบันมีความต้องการนักพาย์อาชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ
แม้การเป็นนักพากย์เสียงจะเป็นอาชีพที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน แต่ก็มีคนแค่หยิบมือที่จะประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในเส้นทางของนักพากย์ได้ โดยหนึ่งในนั้นคือคุณ “แยม” วรรญา ไชยโย หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ WANYAYAM คอนเทนต์ครีเอเตอร์ฉายา นักพากย์ 100 เสียง ผู้ได้รับรางวัล Thailand Influencer Awards 2023 ในหมวด Best Voice & Sound Influencer โดยคุณแยมโด่งดังมาจากคลิปที่โชว์ความสามารถในการพากย์ตัวละครกว่า 100 เสียง ซึ่งมียอดวิวทะลุ 2 ล้านภายในระยะเวลาไม่นาน กับการพากย์เสียงชินจังที่เป็นอีกหนึ่งเสียงที่หลายคนจดจำคุณแยมได้
ด้วยความสามารถที่โดดเด่นและการที่สามารถพากย์ได้หลากหลายเสียงทำให้คุณแยมอยากที่จะส่งต่อทักษะนี้ผ่านคอร์สเรียน “เปิดประตูสู่อาชีพนักพากย์เสียงฉบับคอนเทนต์ครีเอเตอร์” โดยร่วมกับ FutureSkill ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกคนมาเปิดโลกทำความรู้จักกับเส้นทางการเป็นนักพากย์มืออาชีพว่าต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้างเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสำหรับคนที่มีความฝันอยากจะเป็นนักพากย์นั่นเอง
การพากย์มี 2 ประเภท คือ Voice Over และ Voice Acting
ก่อนอื่นพาไปรู้จักในโลกของการพากย์เสียงเรามักจะได้ยินคำว่า Voice Over และ Voice Acting อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าทั้งสองคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร?
การพากย์แบบ Voice Over และ Voice Acting ทั้งสองอย่างนี้ต่างมีศาสตร์และศิลป์ของการใช้เสียงเพื่อที่จะสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวเหมือนกัน แต่ก็มีจุดมุ่งหมาย, รูปแบบ, และอาศัยเทคนิคที่แตกต่างกัน
เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ การพากย์แบบ Voice Over เปรียบเสมือนผู้เล่าเรื่องที่คอยบรรยายและอธิบายเนื้อหาหรือสถานการณ์จากมุมมองของบุคคลที่สาม ในขณะที่การพากย์แบบ Voice Acting เป็นการสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจถึงบุคลิก อารมณ์ และความรู้สึกราวกับว่าเราได้เป็นตัวละครนั้นจริงๆ
ตัวอย่างของการพากย์แบบ Voice Over
- การพากย์โฆษณาอย่างคำว่า “ดุดัน! ไม่เกรงใจใคร” หรือ “วันนี้ TV Direct ขอเสนอ”
- การพากย์ในรูปแบบสารคดีสัตว์โลกน่ารู้หรือรายการโชว์ทำอาหารช่วงที่บรรยายประวัติของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน
- เสียงรายงานข่าวในรายการโทรทัศน์
ตัวอย่างของการพากย์แบบ Voice Acting
- การพากย์ตัวละครในอนิเมะเช่น โดราเอมอน, แม่มดน้อยโดเรมี
- เสียงพากย์ตัวละครในเกม เช่น Final Fantasy, Resident Evil
- ภาพยนตร์จีนพากย์ไทยโดยทีมพากย์พันธมิตร
โดยสรุปคือ Voice Over จะเน้นการบรรยายหรืออธิบายส่วนที่เป็นเนื้อหาแต่ Voice Acting จะเน้นการสวมบทบาทแสดงเป็นตัวละคร แต่ทั้งสองอย่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือสื่อสารเรื่องราวให้ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์มากยิ่งขึ้น
6 สิ่งที่ต้องทำสำหรับคนที่อยากทำงานด้านพากย์เสียง
ในการเป็นนักพากย์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ Voice Over หรือ Voice Acting ต่างก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการฝึกฝนอย่างหนัก โดยคุณแยม WANYAYAM ก็ได้มีหลัก “6 ต้อง” ของการเป็นนักพากย์เสียง โดยถอดออกมาจากประสบการณ์ตรงของคุณแยม ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับนักหัดพากย์มือใหม่ได้ โดยในแต่ละข้อมีรายละเอียดดังนี้
- ต้องไม่อาย
ขั้นแรกคือการมีความมั่นใจ เราต้องมีความกล้าที่จะแสดงออกและเปล่งเสียงให้ดังฟังชัด ไม่ควรเขินอายหรือมีอารมณ์อื่นๆ ที่รบกวนอย่างความประหม่า, ความกลัว, ความเศร้า เพราะเสียงเราจะออกมาเบาไม่มีพลัง การพากย์ควรมีความมั่นใจให้มากเพราะหากอารมณ์ไม่มั่นคงผู้ฟังจะสังเกตได้จากเนื้อเสียงที่สั่นหรือจังหวะการพูดที่แปลก ยิ่งเราพากย์ด้วยความมั่นใจได้เต็มที่เท่าไหร่ผลงานก็จะยิ่งมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น
- ต้องไม่ออมเสียง
การออมเสียงในการพากย์เปรียบเสมือนการไม่เอาจริงในสนามต่อสู้ ถึงแม้ว่าในการบันทึกเสียงอาจจะมีการอัดอยู่หลายเทค แต่ถ้าเราทำดีตั้งแต่เทคแรกหรือเทคสอง เราก็ไม่จำเป็นต้องพากย์ไปถึงเทคที่สิบ ดังนั้นมีพลังเท่าไหร่ใส่ให้สุดไม่ต้องกลัวหมดแรง เพราะนอกจากจะได้งานที่มีพลังแล้ว ก็ยังจบงานพากย์ได้เร็วขึ้นอีกด้วย
- ต้องหยุดเป็นตัวเอง
การพากย์เสียงโดยเฉพาะแบบ Voice Acting เราจะเป็นเหมือนนักแสดงคนหนึ่งที่จะต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครอื่นให้ได้ เราจึงจำเป็นต้องละทิ้งความเป็นตัวเองไว้ชั่วคราว ต้องนึกภาพจินตนาการให้ออกว่าเราคือตัวละครนั้นให้เราพากย์อยู่จริงๆ ไม่ใช่ตัวเราที่เป็นอยู่ ต้องเข้าไปในโลกและมองผ่านเลนส์ของตัวละคร เข้าใจบุคลิก ความรู้สึก ความเจ็บปวด ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้เสียงที่พากย์ออกมามีความสมจริงมากขึ้น
- ต้องสนุกอยู่ในใจ
การพากย์เป็นงานที่มีความกดดันและต้องอาศัยความพยายามอย่างมากซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดความเครียด เราจึงควรที่จะมีความสนุกในการทำงานอยู่เสมอ อาจจะมองมุมที่ว่า การได้ลองพากย์เสียงใหม่ๆ ได้สวมบทเป็นตัวละครที่ต่างจากเดิมเป็นโจทย์ที่ท้าทายและน่าสนุก นับเป็นเสน่ห์ที่มีให้เห็นเฉพาะในงานพากย์เท่านั้น ยิ่งเรามีความสนุกในการพากย์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีแรงผลักดันให้เราฝึกฝนและพัฒนาฝีมือต่อไปอีกด้วย
- ต้องมีสมาธิที่ดี
ขณะพากย์เสียงต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก เพราะต้องทำหลายอย่างทั้งอ่านบท, ตีความ, จับอารมณ์, ควบคุมน้ำเสียง, และยังต้องจับจังหวะการพากย์ให้ตรงกับภาพหรือการขยับปากของตัวละครอีกด้วย ซึ่งขณะพากย์เสียงต้องทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นเราต้องมีสมาธิและจดจ่อกับการพากย์อย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้อารมณ์หรือสิ่งรอบข้างมารบกวน
- ต้องฝึกฝนสม่ำเสมอ
ก็เหมือนกับหลายๆ ทักษะที่ยิ่งฝึกฝนยิ่งเก่งยิ่งชำนาญ ซึ่งการฝึกพากย์ต้องใช้ความอดทนและวินัยอย่างมาก เพราะการพากย์ไม่ใช่แค่การอ่านบทและพูดออกไป แต่ต้องควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการออกเสียง รวมถึงมีเทคนิคการหายใจและการเปล่งเสียง ยิ่งฝึกพากย์บ่อยเท่าไหร่ร่างกายก็จะยิ่งจดจำและทำได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น สามารถพากย์ได้ยาวนานขึ้นโดยไม่เหนื่อยง่าย เสียงที่ออกมาก็จะมีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ความสำเร็จในการเป็นนักพากย์มืออาชีพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการฝึกฝนที่ดี
ทักษะ “การพากย์” ไม่ได้ใช้แค่เฉพาะนักพากย์อีกต่อไป
ทักษะการพากย์เสียงไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับคนที่มีความฝันอยากเป็นนักพากย์เท่านั้น แต่ทักษะนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองาน, การพูดในที่สาธารณะ, การเล่าเรื่อง แม้กระทั่งการสื่อสารในชีวิตประจำวัน หรือในด้านอาชีพอย่าง การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์, นักแคสเกม, สตรีมเมอร์ และวีทูบเบอร์ ต่างต้องใช้ทักษะการใช้เสียงทั้งนั้น
การมีทักษะการพากย์เสียงหรือการใช้เสียงที่ดีจะช่วยให้เรามีความมั่นใจในเสียงตนเองมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น รู้จักใช้น้ำเสียงและคำพูดให้ตรงกับอารมณ์และความรู้สึกที่ต้องการจะสื่อ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราสื่อสารได้อย่างชัดเจน มีพลัง โน้มน้าวใจคนฟังได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในการทำงานแทบทุกอาชีพ
ใครที่อ่านจบแล้วยังไม่จุใจ อยากได้เทคนิคและวิธีในการเป็นนักพากย์และการใช้เสียงเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเรียนได้ที่ https://fskill.co/RMxl กับคอร์ส “เปิดประตูสู่อาชีพนักพากย์เสียงฉบับคอนเทนต์ครีเอเตอร์” ถอดเคล็ดลับการเป็นนักพากย์ที่ประสบความสำเร็จจากคุณแยม WANYAYAM นักพากย์ 100 เสียง ที่จะพาไปรู้จักกับทฤษฎีการพากย์เสียง, เทคนิคการพากย์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน, การวอร์มเสียงก่อนเริ่มพากย์ยังไงไม่ให้บาดเจ็บ, วิธีการหางานประเมินงานและการสร้าง Portfolio สำหรับนักพากย์มือใหม่ และอื่นๆ อีกเพียบ